บทความน่ารู้


อัส-สะลัม (การซื้อขายล่วงหน้า)

- การซื้อขายล่วงหน้า คือข้อตกลงในสิ่ง(สินค้า)ที่ถูกบรรยายลักษณะโดยความรับผิดชอบของผู้ขายที่จะนำมา ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยการจ่ายราคาที่มีการส่งมอบทันทีในสถานที่ตกลง ซึ่งเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺอนุญาตเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่บรรดามุสลิม และทำให้พวกเขาบรรลุในสิ่งที่ต้องการ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัส-สะลัฟ” เป็นการซื้อขายที่จ่ายเงินทันทีแต่สินค้าค้างการส่งมอบ

หุก่มของการซื้อขายแบบสะลัม

เป็นที่อนุญาต (ญาอิซตัวอย่างเช่น  ผู้ซื้อมอบเงิน 1000 บาท โดยให้ผู้ขายส่งมอบผลอินทผลัมชนิดนั้นชนิดนี้(กำหนดลักษณะ) จำนวน50 กิโลกรัมภายในกำหนดเวลาหนึ่งปี

            รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ أَسْلَفَ فِي شَيْءٍ فَفِي كَيْلٍ مَعْلُومٍ، وَوَزْنٍ مَعْلُومٍ إلَى أَجَلٍ مَعْلُومٍ». متفق عليه.

ความว่า “ผู้ใดที่ซื้อขายล่วงหน้า เขาจงซื้อขายล่วงหน้าโดยใช้เครื่องตวงที่แน่นอนที่รู้กันชัดเจน และใช้เครื่องชั่งที่รู้กันแน่นอน ด้วยกำหนดเวลาที่แน่นอน(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2240 โดยตัวบทนี้เป็นของท่าน และ มุสลิม หมายเลข 1604)

เงื่อนไขที่จะทำให้การซื้อขายแบบล่วงหน้าถูกต้อง 

การซื้อขายนี้มีเงื่อนไขเพิ่มเติมจากการซื้อขายปกติเพื่อกำหนดกรอบคือ การรู้ลักษณะของสินค้าที่ซื้อขาย การรู้ราคาและมีการส่งมอบและรับในสถานที่ตกลง และสินค้าจะอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ขาย มีลักษณะที่ชัดเจนไม่มีข้อน่าสงสัย และมีการกำหนดเวลาและสถานที่ส่งมอบ

ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อและการขาย

1- การกำหนดราคา (ตัสอีร)  คือการกำหนดราคาที่แน่นอนของสินค้า (โดยรัฐบาล) โดยที่ไม่ก่อให้เกิดการอธรรมต่อเจ้าของ (ผู้ขาย) และไม่สร้างความลำบากแก่ผู้ซื้อ

            - การกำหนดราคาถือว่าหะรอมหากมีการอธรรมต่อผู้คนโดยทั่วไปหรือมีการบังคับพวกเขาโดยไม่ยุติธรรมในสิ่งที่เขาไม่พอใจหรือกีดกันพวกเขาจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงอนุญาต

            - อนุญาตให้มีการกำหนดราคาสินค้า ถ้าหากผลประโยชน์ของผู้คนโดยทั่วไปไม่อาจบรรลุได้นอกจากด้วยวิธีนี้ เช่น เจ้าของสินค้ามีการกีดกันไม่ยอมขายสินค้านอกจากด้วยราคาที่สูงทั้งที่ผู้คนมีความจำเป็นในสินค้านั้น จึงต้องมีการกำหนดราคาโดยให้ขายในราคาปกติทั่วไปที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อตัวเองและผู้อื่น

 2- การกักตุนสินค้า (อิหฺติการ) คือการซื้อสินค้าแล้วเก็บกักไว้เพื่อให้มันมีน้อยลงในท้องตลาดแล้วนำไปสู่การเพิ่มของราคาสินค้านั้น การกักตุนสินค้าถือว่าหะรอม เพราะแสดงถึงความละโมบ โลภมาก และสร้างความลำบากแก่ผู้คน ผู้ใดที่กักตุนสินค้าดังนั้นถือว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด

จากมะอฺมัรฺ บิน อับดุลลอฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ จากท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

«لَا يَـحْتَكِرُ إِلَّا خَاطِئٌ» رواه مسلم.

ความว่า “ผู้ที่ทำการกักตุนสินค้านั้นคือผู้กระทำความผิด(บันทึกโดย มุสลิม 1605)

3- อัต-ตะวัรรุก คือ การที่บุคคลหนึ่งซื้อสินค้าด้วยเงินเชื่อ แล้วเขาก็ขายสินค้านั้นแก่ผู้อื่นนอกจากผู้ขาย ในราคาที่ถูกกว่าราคาที่เขาซื้อมา

- หุก่ม อัตตะวัรรุก : เมื่อบุคคลหนึ่งมีความต้องการเงินแล้วไม่อาจหาผู้ที่จะให้เขากู้ยืมได้ ถือว่าอนุญาตให้เขาซื้อสินค้าหนึ่งโดยเงินเชื่อ แล้วขายสินค้านั้นไปด้วยเงินสดแก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ที่ขายสินค้านั้นแก่เขา เขาจึงได้ประโยชน์จาก (เงิน) ราคาสินค้านั้น          

4- การซื้อขายสินค้าแบบมีมัดจำ (อัล-อัรบูน) คือการขายสินค้าที่ผู้ซื้อจ่ายเงินจำนวนหนึ่งแก่ผู้ขายภายใต้เงื่อนไขที่ว่าหากผู้ซื้อซื้อสินค้านั้นจริง เงินจำนวนนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้า แต่ถ้าหากเขาไม่ซื้อ เงินดังกล่าวที่จ่ายไปจะเป็นของผู้ขาย คือเป็นเงินมัดจำนั่นเอง การซื้อขายนี้ถือว่าอนุญาตหากมีการกำหนดเวลาที่ต้องรอคอยที่แน่นอน

อ้างอิง :: https://islamhouse.com/th/articles/204623


ย้อนกลับ