บทความน่ารู้


อัช-ชุฟอะฮฺ และ อัช-ชะฟาอะฮฺ (สิทธิในการบังคับให้ขายคืนและการใช้สิทธิคุ้มครอง)

อัช-ชุฟอะฮฺ   หมายถึง  การให้สิทธิแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนในการเอาคืนส่วนของคู่หุ้นส่วนของเขา จากมือของผู้ที่ซื้อไปด้วยราคาที่ผู้ซื้อได้ทำสัญญาตกลงไว้แน่นอนแล้ว

วิทยปัญญาในการบัญญัตอัช-ชุฟอะฮฺ (การบังคับให้ขายคืน)   

           อัช-ชุฟอะฮฺ   ถือเป็นความดีงามของอิสลามอีกประการหนึ่ง โดยถูกบัญญัติไว้เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่หุ้นส่วน เพราะว่าบางครั้งคนที่ซื้อส่วนของคู่หุ้นส่วนไปนั้นเป็นสัตรูกับหุ้นส่วนอีกฝ่าย หรือเป็นคนที่มีกิริยามารยาทที่ไม่ดีก็จะทำให้เกิดการขัดแย้งโกรธเคืองกันได้ ดังนั้นการบัญญัติการชุฟอะฮฺก็จะช่วยป้องกันความเสียหายและอันตรายที่จะเกิดขึ้น

หุก่มของการบังคับให้ขายคืน

         สิทธิอัช-ชุฟอะฮฺจะมีอยู่ในทุกสิ่งที่ยังไม่ได้มีการแบ่งหรือจัดสรรกันไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้าน หรือสวน และถือเป็นสิ่งหะรอมที่จะมีการหลีกเลี่ยงให้สิทธินี้หมดไปเพราะมันถูกบัญญัติเพื่อป้องกันความเสียที่จะเกิดแก่คู่หุ้นส่วน

            รายงานจากท่าน ญาบิร บุตร อับดุลลอฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้รายงานว่า

قَضَىَ النَّبِيُّ صلى الله عليه وسلم بِالشُّفْعَةِ فِي كُلِّ مَا لَـمْ يُـقْسَمْ، فَإذَا وَقَعَتِ الحُدُودُ، وَصُرِّفَتِ الطُّرُقُ فَلا شُفْعَةَ. متفق عليه.

ความว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ตัดสินให้มีสิทธิบังคับให้ขายคืน ในทุกๆ สิ่งที่ยังไม่ได้แบ่งแยกส่วนกัน ดังนั้นเมื่อมีการแบ่งขอบเขตแน่ชัดและมีถนนคั่นกลางแล้วก็จะไม่มีการบังคับให้ขายคืนอีกต่อไป” (บันทึกโดยอัล-บุคคอรีย์ หมายเลข 2257 คำรายงานนี้เป็นของท่าน และบันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1608)

เวลาของการบังคับให้ขายคืน

1. การบังคับขายคืนเป็นสิทธิของผู้ที่มีหุ้นส่วนเมื่อใดที่เขารู้ว่ามีการขายเกิดขึ้น  ถ้าหากเขาชักช้าในการใช้สิทธิบังคับขายคืนสิทธินั้นก็จะหมดไป นอกเสียจากว่าเขาอยู่ที่อื่นไม่ได้อยู่ในสถานที่นั้น หรือเขามีสิ่งเหตุจำเป็นอื่นที่จะต้องอนุโลมให้ ก็ให้ถือว่าเมื่อใดที่เขามีความสามารถเขาจะต้องทำการเรียกร้องใช้สิทธินั้นทันที และหากเขามีโอกาสที่จะหาพยานว่าเขาต้องการเรียกร้องสิทธิแต่เขาไม่ได้ทำ ก็ถือว่าสิทธิบังคับให้ขายคืนนั้นหมดไปเช่นกัน

2. ถ้าผู้มีสิทธิเรียกร้องบังคับขายคืนเสียชีวิต   สิทธินี้ก็จะตกเป็นของทายาท  และให้ถือว่าผู้มีสิทธิบังคับขายคืนต้องจ่ายราคาสินค้านั้นทั้งหมด(แก่ผู้ซื้อ)เต็มราคา   แต่หากเขาไม่สามารถจ่ายได้แม้เพียงบางส่วนก็ตาม ถือว่าสิทธิชุฟอะฮฺหมดไป(เป็นโมฆะ)

การป้องกันและบังคับใช้สิทธิ

ผู้เป็นหุ้นส่วนจะไม่อนุญาตให้ทำการขายส่วนของตนจนกว่าจะได้ขออนุญาต(บอกกล่าว)จากผู้ร่วมหุ้นคนอื่นๆ  ดังนั้นถ้าหากเขาขายไปโดยไม่ได้ขออนุญาตถือว่าผู้ร่วมหุ้นมีสิทธิในส่วนนั้นมากกว่า(ผู้ที่ซื้อไปและถ้าหากเขา(ผู้ร่วมหุ้น)อนุญาตให้และกล่าวว่าฉันไม่ได้ต้องการส่วน(ที่ท่านจะขายไป)นั้น ถือว่าผู้ร่วมหุ้นส่วนคนนั้นไม่มีสิทธิที่จะไปบังคับให้ขายคืนได้หลังจากที่มีการซื้อขายไปแล้ว

การบังคับให้ขายคืนสำหรับเพื่อนบ้าน

            เพื่อนบ้านย่อมมีสิทธิในการบังคับ(ชุฟอะฮฺ)ให้ขายคืนในส่วนของเพื่อนบ้านของเขามากกว่าผู้อื่น และหากระหว่างเพื่อนบ้านสองคนที่สิทธิร่วมกันในถนนหนทางหรือแหล่งน้ำ ถือว่าทั้งสองฝ่ายมีสิทธิชุฟอะฮฺ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«الجَارُ أَحَقُّ بِشُفْعَةِ جَارِهِ يُنْتَظَرُ بِـهَا وَإنْ كَانَ غَائِباً إِذَا كَانَ طَرِيقُهُـمَا وَاحِداً». أخرجه أبو داود وابن ماجه

ความว่า เพื่อนบ้านย่อมมีสิทธิชุฟอะฮฺในส่วนของเพื่อนบ้านของเขามากกว่าผู้อื่น ต้องรอดูความต้องการของเขาก่อน แม้เขาจะไม่อยู่ในขณะนั้น ทั้งนี้หากทั้งสองมีถนนใช้เส้นเดียวกัน" (หะดีษ เศาะฮีหฺ บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 3518 และบันทึกโดยอิบนุ มาญะฮฺ หมายเลข 2494)

อัช-ชะฟาอะฮฺ คือ  การขอความช่วยเหลือเพื่อผู้อื่น (การคุ้มครอง)

ประเภทของการคุ้มครอง(อัช-ชะฟาอะฮฺ)

อัช-ชะฟาอะฮฺ  มีสองประเภท คือ ดีและไม่ดี

1. อัช-ชะฟาอะฮฺที่ดี   คือ การคุ้มครองในสิ่งที่ศาสนามองว่าเป็นสิ่งดี  เช่น  การใช้สิทธิคุ้มครองเพื่อทำให้สิ่งที่เป็นความเสียหายหมดไป หรือนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้ที่สมควรได้มัน หรือความอธรรมหลุดพ้นไปจากผู้ถูกอธรรม เหล่านี้คือชะฟาอะฮฺที่น่าสรรเสริญ และผู้ทำจะได้รับผลบุญ

2. อัช-ชะฟาอะฮฺที่ไม่ดี   คือ การให้ชะฟาอะฮฺในสิ่งที่ศาสนาห้ามหรือรังเกียจ เช่น การชะฟาอะฮฺเพื่อให้ไม่ต้องรับโทษ หรือทำลายความจริง หรือให้สิทธิแก่บุคคลที่ไม่ใช่ผู้ที่ควรจะได้สิทธิ เหล่านี้คือการชะฟาอะฮฺที่น่ารังเกียจและคนที่ทำจะต้องรับบาปกรรมโดยเขาจะไม่ได้ผลบุญใดๆ

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

ผู้ใดที่ให้ความช่วยเหลืออย่างดีก็จะเป็นของเขาซึ่งส่วนหนึ่งจากความดีนั้น   และผู้ใดให้ความช่วยเหลืออย่างชั่วก็จะเป็นของเขาซึ่งส่วนหนึ่งจากความชั่วนั้น และอัลลอฮฺนั้นทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง” (อัน-นิสาอ์ 85)

อ้างอิง :: https://islamhouse.com/th/articles/218398

 


ย้อนกลับ