บทความน่ารู้
อัล-มุซากอฮฺ และ อัล-มุซาเราะอะฮฺ การให้ผู้อื่นดูแลต้นไม้และเพาะปลูกในที่ดินของตน
อัล-มุซากอฮฺ : คือการมอบไม้ผลเช่น ต้นอินทผาลัม หรือองุ่น ให้ผู้อื่นช่วยดูแลรดน้ำ และทำสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นโดยกำหนดจำนวนส่วนแบ่งในผลไม้(ที่จะได้สวนนั้น)ที่แน่นอน โดยไม่เจาะจงว่ามาจากส่วนไหนของสวน เช่น ½ ของผลจากสวน หรือ ¼ เป็นต้น และที่เหลือมอบให้อีกฝ่าย
อัล-มุซาเราะอะฮฺ : คือการมอบที่ดินให้ผู้อื่นทำการเพาะปลูก โดยกำหนดแบ่งสัดส่วนของผลผลิตที่ได้จากที่ดินนั้นอย่างชัดเจนโดยไม่กำหนดว่าจากส่วนไหนของสวน เช่นให้ ½ ของผลผลิตที่ได้ หรือ ¼ เป็นต้น ส่วนที่เหลือเป็นกรรมสิททิ์ของเจ้าของที่ดิน
ความประสริฐของอัล-มุซากอฮฺ และอัล-มุซารออะฮฺ
รายงานจากท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«مَا مِنْ مُسْلِـمٍ يَـغْرِسُ غَرْساً، أَوْ يَزْرَعُ زَرْعاً فَيَأْكُلُ مِنْـهُ طَيْرٌ أَوْ إنْسَانٌ أَوْ بَـهِيمَةٌ إلَّا كَانَ لَـهُ بِـهِ صَدَقَةٌ». متفق عليه.
ความว่า “ไม่มีมุสลิมคนใดที่ได้ทำการฝังเมล็ดหนึ่งหรือปลูกพืชหนึ่ง แล้วมีนก มนุษย์ หรือสัตว์มากิน เว้นแต่เขาจะได้รับผลบุญการบริจาคทานจากสิ่งดังกล่าว” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2320 และ มุสลิม หมายเลข 1553)
เหตุผล (หิกมะฮฺ) ของการบัญญัติอัล-มุซากอฮฺ และ อัล-มุซาเราะอะฮฺ
บางคนเป็นเจ้าของที่ดินและไม้ผล หรือมีครอบครองที่ดินและเมล็ดพันธุ์พืช แต่ว่าไม่มีความสามารถที่จะรดน้ำและดูแลเอใจใส่กับมัน อาจจะเป็นเพราะไม่มีภูมิความรู้ หรือไม่มีเวลาว่าง และบางคนมีความสามารถในการทำงาน แต่กลับไม่มีครอบครองไม้ผลและที่ดิน ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายอิสลามจึงอนุญาตให้มีการมุซากอฮฺ (การรับจ้างรดน้ำ) และมุซาเราะอะฮฺ (การเพาะปลูก) เพื่อเป็นการพัฒนาฟื้นฟูแผ่นดิน เพิ่มพูนทรัพย์สิน และเป็นการสร้างงานให้คนงานที่มีความสามารถที่จะทำงานได้แต่ไม่มีทรัพย์(ที่ดิน)และไม้ผลเป็นของตนเอง
หุก่มของอัล-มุซากอฮฺและอัล-มุซาเราะอะฮฺ
อัล-มุซากอฮฺและอัล-มุซาเราะอะฮฺเป็นข้อตกลงที่มีพันธะผูกพันต่อกัน ไม่อนุญาตให้มีการยกเลิกเว้นแต่ด้วยการยินยอมของอีกฝ่าย และมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนถึงแม้จะยาวนาน และด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่าย
หุก่มของการรวมระหว่างอัล-มุซากอฮฺและอัล-มุซาเราะอะฮฺ
อนุญาตให้มีการรวมระหว่างมุซากอฮฺและมุซาเราะอะฮฺในสวนเดียวกัน โดยการรดน้ำต้นไม้ด้วยส่วนแบ่งที่แน่นอนจากผลโดยไม่เจาะจงว่าจากส่วนไหนของสวน และปลูกพืชด้วยส่วนแบ่งที่แน่นอนจากผลโดยไม่เจาะจงว่าจากส่วนไหนของสวนเช่นเดียวกัน
จากท่านอิบนฺ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา กล่าวว่า
أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيهِ وَسَلَّم عَامَلَ خَيْبَرَ بِشَطْرِ مَا يَـخْرُجُ مِنْـهَا مِنْ ثَمَرٍ أَوْ زَرْعٍ. متفق عليه.
ความว่า “แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ตกลงให้มีการทำงานในสวนที่ค็อยบัรโดยกำหนดส่วนแบ่งเป็นครึ่งหนึ่งของผลผลิตที่ได้จากผลไม้หรือพืช” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2328 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลข 1551)
อัล-มุคอบะเราะฮฺ
หมายถึง การที่ผู้ทำสวนปลูกพืชกำหนดให้เจ้าของที่ดินได้รับส่วนแบ่งจากส่วนที่อยู่ติดเส้นทางน้ำและรางน้ำ หรือกำหนดให้เขาได้รับส่วนแบ่งจากส่วนใดส่วนหนึ่งที่แน่นอนจากการเพราะปลูก อย่างนี้ถือว่าหะรอมเพราะมีความไม่ชัดเจน หลอกลวง และความเสียหายแฝงอยู่ เพราะบางทีส่วนหนึ่งของสวนอาจปลอดภัย (ออกดอกผล) และอีกส่วนเสียหาย (ตายหรือไม่ออกผล) จึงทำให้เกิดการพิพาทกันได้
หุก่มการเช่าที่ดิน
อนุญาตให้มีการเช่าที่ดินด้วยเงิน และด้วยส่วนแบ่งที่แน่นอนจากผลผลิตที่ไม่เจาะจงว่าจากส่วนไหนของสวน เช่นครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมด หรือหนึ่งในสามของผลผลิต เป็นต้น
อนุญาตให้ทำธุระกรรมกับคนกาฟิร (ต่างศาสนิก) ในเรื่องการเกษตร การอุตสาหกรรม การค้าขาย การก่อสร้างและอื่นๆ ที่ไม่ขัดแย้งกับหลักศาสนาอิสลาม อาทิ ดอกเบี้ย หรือ การคดโกง หรือสิ่งที่ต้องห้าม
หุก่มการเลี้ยงสุนัข
ไม่อนุญาตให้มุสลิมเลี้ยงสุนัข เว้นแต่เพื่อใช้ประโยชน์ เช่นสุนัขล่าสัตว์ หรือต้อนสัตว์เลี้ยง หรือเพาะปลูกเป็นต้น เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«مَنْ اقْتَنَى كَلْباً لَيْسَ بِكَلْبِ صَيْدٍ وَلا مَاشِيَةٍ وَلا أَرْضٍ، فَإنَّـهُ يَنْقُصُ مِنْ أَجْرِهِ قِيْرَاطَانِ كُلَّ يَوْمٍ». متفق عليه.
ความว่า “ผู้ใดที่ครอบครองสุนัข ที่ไม่ใช่สุนัขล่าสัตว์ หรือต้อนสัตว์เลี้ยง หรือเพาะปลูก แท้จริงผลบุญของเขาจะลดลงสองกีรอฏทุกๆวัน” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2322 และมุสลิม หมายเลข 1575 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน)
หุก่มของผู้ที่เผาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่เจตนา
ผู้ใดที่ก่อไฟในที่ครอบครองของตนด้วยมีเป้าหมายที่ชอบธรรม แล้วลมได้พัดพาเพลิงไฟไปเผาผลาญทรัพย์สินของผู้อื่น โดยที่เขาไม่สามารถที่จะยับยั้งเปลวเพลิงนั้นได้ ดังนั้นเขาไม่จำเป็นจะต้องชดใช้
อ้างอิง :: https://islamhouse.com/th/articles/205755