บทความน่ารู้
อัล-ลุเกาะเฏาะฮฺ และ อัล-ละกีฏ (ทรัพย์สินที่พบตกหล่นอยู่และเด็กที่ถูกพบโดยไม่ทราบว่าเป็นลูกหลานใคร)
อัล-ลุเกาะเฏาะฮฺ คือ ทรัพย์สินหรือสิ่งที่เป็นกรรมสิทธิของบุคคลที่ได้หล่นหายจากเจ้าของแล้วมีบุคคลอื่นมาพบเจอ
หุก่มของสิ่งที่ตกหล่น
การอนุญาตให้มีการหยิบเอาสิ่งที่หล่นหายแล้วทำประกาศหาเจ้าของถือเป็นอีกความงดงามหนึ่งของอิสลาม ทั้งนี้เพราะว่าถือเป็นการช่วยปกป้องรักษาทรัพย์สินของผู้อื่นและเป็นการได้รับผลบุญแก่ผู้ที่หยิบมันแล้วเอาไปประกาศด้วย
ทรัพย์สินที่สูญหายแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ
1. ทรัพย์สินที่คนฐานะปานกลางไม่ห่วงหาเมื่อตกหล่น เช่น ไม้เรียว ไม้เท้า ขนมปังปอนด์ และผลไม้ เป็นต้น ทรัพย์สินชนิดนี้ถือว่าเมื่อพบเจอสามารถครอบครองได้หากไม่พบเจ้าของ และไม่วาญิบที่จะต้องประกาศหาเจ้าของ แต่ที่ดีที่สุดคือการนำทรัพย์นั้นไปบริจาค
2. สัตว์สูญหายที่สามารถปกป้องตัวเองจากสัตว์นักล่าขนาดเล็กได้ เช่น อูฐ วัว ม้า กวาง และนก เป็นต้น สัตว์เหล่านี้ถือว่าไม่มีบัญญัติการนำเอามันมาเก็บไว้ และผู้ใดที่เอามันไปก็ต้องรับผิดชอบชดใช้มัน(หากมันเกิดเสียหาย)พร้อมกับจะต้องทำการประกาศหาเจ้าของตลอดไปโดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด
3. ทรัพย์สินอื่นๆ (ที่นอกเหนือจากทั้งสองประเภทที่กล่าวมา) เช่น เงิน สิ่งของต่างๆ กระเป๋าชนิดต่างๆ และบรรดาสัตว์เลี้ยงที่ไม่อาจระวังตัวเองจากสัตว์นักล่าได้ เช่น แพะ แกะ และลูกอูฐที่ยังเล็ก เป็นต้น ทรัพย์สินเหล่านี้ถือว่าสามารถหยิบจับเอามันมาได้หากมั่นใจตัวเองว่าจะไม่ละเมิดมันและมีความสามารถที่จะทำการประกาศหาเจ้าของได้ โดยที่เขาต้องหาพยานที่มีความยุติธรรมสองคนมาเป็นสักขีพยาน และต้องจดจำถุงที่ใส่มันและเชือกที่ผูกปากถุงของมันไว้แล้วทำการประกาศเป็นระยะเวลาหนึ่งปีเต็มในที่ชุมนุมทั่วไปของผู้คน เช่น ท้องตลาด ประตูทางเข้ามัสยิด เป็นต้นโดยใช้สื่อประเภทต่างๆ ที่ศาสนาอนุญาตในการประกาศดังกล่าว
หุก่มของทรัพย์สินที่หล่นหายหลังจากการประกาศ
1. เมื่อได้ทำการประกาศการพบเจอของตกหล่นมาครบหนึ่งปีเต็มแล้ว หากพบเจอเจ้าของต้องส่งคืนให้กับเขาไป โดยที่ไม่ต้องมีหลักฐานหรือคำสาบานใด แต่ถ้าหากไม่พบเจ้าของก็ต้องจดจำคุณลักษณะและจำนวนของมันไว้ หลังจากนั้นเขาก็สามารถเอามันมาใช้และถือครองมันเป็นกรรมสิทธิ์ได้ แต่เมื่อใดที่เจ้าของของมันมาหาแล้วบอกคุณลักษณะถูกต้องเขาก็ต้องส่งคืนให้ถ้ามันยังอยู่และเขาก็ต้องชดใช้สิ่งที่เหมือนกันแทนหากเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไปหรือเสียหายไป
2. หากสิ่งที่พบเจอนั้นเกิดการเสียหายหรือสูญสลายในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ทำการประกาศ โดยที่เขาไม่ได้ละเมิดหรือละเลยถือว่าเขาไม่จำเป็นรับผิดชอบชดใช้
สิ่งที่พึงกระทำต่อสิ่งของที่พบแล้วเก็บไว้
หากสิ่งที่พบเจอแล้วหยิบมานั้นเป็นแพะ หรือลูกอูฐ หรือสิ่งที่เกรงว่ามันจะเสียหาย ถือว่าอนุญาตให้ผู้พบเจอนั้นทำสิ่งที่ดีที่สุดต่อเจ้าของของมันเช่นนำไปบริโภคแล้วจ่ายราคาแทนให้ หรือทำการขายมันไปและเก็บเงินราคาของมันไว้ หรืออาจทำการเก็บรักษาไว้ตลอดระยะเวลาที่ทำการประกาศหาเจ้าของแล้วทำการเก็บค่าใช้จ่ายในการดูแลจากเจ้าของต่อไป
รายงานจากท่าน ซัยด์ บุตร คอลิด เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ว่า
سئل رسول الله صلى الله عليه وسلم عن اللقطة، الذهب، أو الوَرِق؟ فقال: «اعْرِفْ وِكَاءَهَا وَعِفَاصَهَا ثُمَّ عَرِّفْهَا سَنَةً فَإنْ لَـمْ تَعْرِفْ فَاسْتَنْفِقْهَا وَلْتَـكُنْ وَدِيعَةً عِنْدَكَ فَإنْ جَاءَ طَالِبُـهَا يَوْماً مِنَ الدَّهْرِ فَأَدِّهَا إلَيْـهِ».
وَسَأَلَـهُ عَنْ ضَالَّةِ الإبلِ فَقَالَ: «مَا لَكَ وَلَـهَا دَعْهَا فَإنَّ مَعَهَا حِذَاءَهَا وَسِقَاءَهَا تَرِدُ المَاءَ وَتَأْكُلُ الشَّجَرَ حَتَّى يَـجِدَها رَبُّـهَا».
وَسَأَلَـهُ عَـنِ الشَّـاةِ فَقَـالَ: «خُذْهَا فَإنَّمَا هِيَ لَكَ أَوْ لأَخِيكَ أَوْ لِلذِّئْبِ». متفق عليه.
ความว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ถูกถามเกี่ยวกับสิ่งที่สูญหายที่มีคนพบเจอเป็นทองคำหรือเงิน? ท่านนบีได้กล่าวว่า “จงจดจำคุณลักษณะเชือกที่ผูกปากถุงของมันและถุงที่ใส่มัน แล้วทำการประกาศหาเจ้าของเป็นเวลาหนึ่งปี หากไม่พบเจอเจ้าของเขาก็จงใช้จ่ายมันได้ และจะถือว่ามันเป็นของที่ท่านรับฝากไว้เมื่อใดที่เจ้าของได้มาถามหาในวันใดวันหนึ่งในอนาคตท่านก็จงชดใช้ส่งคืนให้กับเขาเสีย”
แล้วชายคนนั้นได้ถามถึงอูฐที่หลงทาง ท่านนบีได้กล่าวว่า “ท่านกับมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย จงปล่อยมันไป เพราะมันก็มีเท้า มีน้ำเก็บไว้ดื่ม มันจะไปหาแหล่งน้ำ และหากินไปเรื่อยๆจนกว่าเจ้าของจะพบมัน”
แล้วชายคนนั้นได้ถามถึงแกะที่พลัดหลง ท่านนบีได้กล่าวว่า “จงเก็บเอามันไว้ เพราะแท้จริงแล้วมันเป็นของท่านหรือไม่ก็เป็นของพี่น้องของท่าน หรือเป็นของหมาป่า” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 91 และบันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1722 ซึ่งคำรายงานนี้เป็นของท่าน)
- สำหรับคนปัญญาอ่อนและเด็กที่พบของตกหล่น พ่อแม่ผู้ปกครองจะทำหน้าที่ประกาศหาเจ้าของแทนสำหรับสิ่งตกหล่นที่ทั้งสองพบเจอ
หุก่มสิ่งตกหล่นในแผ่นหะรอม(มักกะฮฺและมะดีนะฮฺ)
สิ่งที่ตกหล่นในแผ่นดินหะรอมไม่อนุญาตให้เก็บมันมา ยกเว้นหากเกรงว่าสิ่งนั้นจะเสียหาย หรือสูญหาย ถือว่าวาญิบที่ผู้เก็บเอามันมาต้องทำการประกาศหาเจ้าของตราบใดที่เขายังอยู่ที่เมืองมักกะฮฺ เมื่อต้องการเดินทางออกจากมักกะฮฺ ก็จะต้องส่งมอบให้แก่ฝ่ายที่รับผิดชอบ อาจเป็นผู้ปกครองเมือง ตัวแทนของเขา หรือคนที่รับหน้าที่แทนเขา จะไม่อนุญาตให้ครอบครองสิ่งตกหล่นในมักกะฮฺในทุกกรณี และไม่อนุญาตให้หยิบมันมายกเว้นสำหรับผู้ที่ต้องการประกาศหาเจ้าของตลอดไปเท่านั้น ส่วนสิ่งตกหล่นของคนที่กำลังทำหัจญ์ถือว่าหะรอมที่จะเอามันมาไม่ว่าจะพบในแผ่นดินนอกเขตหะรอม(เขตต้องห้าม)หรือในเขตหะรอม
รายงานจากอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
«حَرَّمَ اللَّهُ مَكَّةَ فَلَمْ تَحِلَّ لِأَحَدٍ قَبْلِي وَلَا لِأَحَدٍ بَعْدِي، أُحِلَّتْ لِي سَاعَةً مِنْ نَهَارٍ، لَا يُخْتَلَى خَلَاهَا، وَلَا يُعْضَدُ شَجَرُهَا، وَلَا يُنَفَّرُ صَيْدُهَا، وَلَا تُلْتَقَطُ لُقَطَتُهَا إِلَّا لِمُعَرِّفٍ» فَقَالَ الْعَبَّاسُ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ: إِلَّا الْإِذْخِرَ لِصَاغَتِنَا وَقُبُورِنَا؟ فَقَالَ: «إِلَّا الْإِذْخِرَ» متفق عليه.
ความว่า "อัลลอฮฺได้ทำให้มักกะฮฺเป็นเขตหะรอม(ต้องห้าม) ดังนั้นจึงไม่ถูกอนุญาตให้แก่ผู้ใดก่อนหน้าฉันและหลังจากฉัน มันถูกอนุญาตแก่ฉันเพียงชั่วยามหนึ่งของเวลากลางวัน(เมื่อครั้งสงครามเปิดมักกะฮฺ) จะต้องไม่ถูกถอนต้นพืชในเขตของมัน จะต้องไม่ถูกตัดโค่นต้นไม้ของมัน สัตว์ล่าในเขตของมันต้องไม่ถูกไล่ สิ่งตกหล่นในเขตของมันต้องไม่ถูกหยิบนำมาเว้นแต่สำหรับคนที่ต้องการประกาศหาเจ้าของ" ท่านอับบาส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้ถามว่า ยกเว้นต้นอิซคิรฺ(พืชที่คล้ายตะไคร้) สำหรับรวงร้านและสุสานใช่หรือไม่? ท่านนบีตอบว่า "ยกเว้นต้นอิซคิรฺ" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 1349 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และ มุสลิม 1353)
หุก่มการถามหาสัตว์ที่พลัดหลงในมัสยิด
รายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«مَنْ سَمِعَ رَجُلاً يَنْشُدُ ضَالَّةً فِي المَسْجِدِ فَلْيَـقُلْ: لا رَدَّهَا الله عَلَيْكَ فَإنَّ المَسَاجِدَ لَـمْ تُبْنَ لِـهَذَا». أخرجه مسلم.
ความว่า “ผู้ใดที่ได้ยินชายคนหนึ่งคนใดที่ถามหาสัตว์ที่พลัดหลงในมัสยิด เขาก็จงกล่าวแก่ชายผู้นั้นว่า ขอให้อัลลอฮฺจงอย่าคืนสัตว์ตัวนั้นให้กับท่านเถิด เพราะแท้จริงแล้วมัสยิดนั้นไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเป้าหมายนี้” (บันทึกโดยมุสลิม 568)
อัล-ละกีฏ คือเด็กที่ไม่ทราบเชื้อสายของเขา และไม่ทราบว่าเขาเป็นทาสหรือไม่ เขาถูกทิ้งไว้ในที่หนึ่ง หรือหลงทางมา
หุก่มการเก็บเด็กที่ถูกพบ
ถือว่าเป็นฟัรฎู กิฟายะฮฺ (เป็นความรับผิดชอบโดยส่วนรวม ถ้าใครคนใดคนหนึ่งทำ คนอื่นไม่ต้องรับผิดชอบอีก) และสำหรับคนที่รับเด็กไปและเลี้ยงดูเขาจะได้รับผลบุญที่ยิ่งใหญ่
เด็กที่ถูกทิ้งหรือหลงทางนี้หากพบในประเทศอิสลามถือว่าเขาเป็นมุสลิม และจะถือว่าเขาเป็นไทไม่ใช่ทาสไม่ว่าจะพบเจอในที่ใด เพราะนั่นถือเป็นหลักเดิมจนกว่าจะรู้ชัดเจนว่าไม่เป็นอย่างนั้น
การดูแลเลี้ยงดูเด็กที่ถูกพบ
การดูแลเลี้ยงดูเด็กที่เป็นละกีฏนี้ถือเป็นสิทธิของผู้ที่พบหากเขาเป็นผู้บรรลุศาสนภาวะไว้วางใจได้และมีความยุติธรรม โดยค่าเลี้ยงดูเด็กนั้นกองคลังจะต้องออกให้ และหากพบว่าเด็กมีทรัพย์ติดตัวมาด้วยก็ใช้ทรัพย์นั้นเลี้ยงดูเด็ก
มรดกของเด็กที่ถูกพบ
มรดกและค่าสินไหมของเด็กที่เป็นละกีฏนี้ถือว่าเป็นของกองคลังหากเขาไม่มีญาติเลย และผู้นำจะเป็นผู้ปกครองของเขาในเรื่องการฆ่าโดยเจตนา โดยผู้นำจะมีสิทธิเลือกระหว่างการประหารและการรับค่าสินไหมโดยมอบให้แก่กองคลัง
การคืนเด็กแก่ผู้ปกครอง
หากมีชายหรือหญิงที่มีคู่สมรสไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือกาฟิรยอมรับว่าเด็กคนนั้นเป็นลูกของตนถือว่าเด็กเป็นเชื้อสายของคนคนนั้น และหากมีหลายคนที่อ้างว่าเด็กเป็นลูกของเขา ถือว่าเป็นของผู้ที่มีหลักฐาน หากไม่มีใครมีหลักฐานถือว่าเป็นของผู้ที่หมอซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องเชื้อสายบอกว่าเด็กเป็นลูกของคนๆ นั้น
อ้างอิง :: http://www.islammore.com/view/1118