บทความน่ารู้


อัล-คิยารฺ - สิทธิในการตัดสินใจจะซื้อจะขาย

 วิทยปัญญาในการบัญญัติสิทธิในการตัดสินใจของผู้ซื้อและผู้ขาย

สิทธิในการตัดสินใจที่จะซื้อจะขายเป็นเอกลักษณ์ที่ดีงามอันหนึ่งของศาสนาอิสลาม  เพราะบางครั้งการซื้อขายอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยไม่ได้มีการพิจารนาไตร่ตรองหรือศึกษาเรื่องราคาก่อน มีผลทำให้คู่ตกลงทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดความเสียใจ(เสียดายที่ตัดสินใจผิด) ด้วยเหตุนี้ศาสนาอิสลามจึงให้โอกาสในการย้อนข้อตกลงกลับคืนมาภายใต้ชื่อที่ว่า “สิทธิในการตัดสินใจจะซื้อจะขายของผู้ซื้อและผู้ขาย” ซึ่งจะทำให้คู่ตกลงมีโอกาสเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนระหว่างการให้การซื้อขายนั้นดำเนินไปตามที่ตกลงหรือยกเลิกไป

จากหะกีม บิน ฮิซาม เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«البَيِّعَانِ بِالخِيَارِ مَا لَـمْ يَتَفَرَّقَا، أوْ قال: حَتَّى يَتَفَرَّقَا، فَإنْ صَدَقَا وَبَيَّنَا بُورِكَ لَـهُـمَا فِي بَيْـعِهِـمَا، وَإنْ كَتَـمَا وَكَذَبَا مُـحِقَتْ بَرَكَةُ بَيْـعِهِـمَا». متفق عليه.

ความว่า “ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีสิทธิในการตัดสินใจครั้งสุดท้าย ตราบใดที่ทั้งสองยังมิได้แยกย้ายกันไป (หรือท่านได้กล่าวว่าจนกว่าทั้งสองจะแยกย้ายกันไป) ถ้าหากว่าทั้งสองมีความซื่อสัตย์และกระจ่างแจ้งในการซื้อขาย ทั้งสองก็จะได้รับความบะเราะกะฮฺ(จำเริญ)ในการซื้อขายนั้น   และถ้าหากทั้งสองมีการปิดบัง หรือพูดเท็จแล้ว ความบะรอกะห์ก็จะถูกลบไปจากพวกเขา”  (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 2079 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลข 1532)

ประเภทของสิทธิในการตัดสินใจ

สิทธิในการตัดสินใจมีหลายประเภท ส่วนหนึ่งก็คือ

1. สิทธิในการตัดสินใจจะซื้อขายในขณะที่ยังอยู่ในสถานที่ตกลง: ซึ่งสิทธินี้จะมีอยู่ในการซื้อขาย การประนีประนอม การเช่า-จ้างและอื่นๆ ที่เป็นข้อตกลงที่มีการแลกเปลี่ยนกันโดยมีเป้าหมายหรือเจตนาให้ได้ทรัพย์สิน   ซึ่งถือเป็นสิทธิของทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย  โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ทำข้อตกลงจนกระทั่งแยกย้ายกันโดยร่างกาย และเมื่อใดที่มีการยกเลิกสิทธินี้มันก็จะถูกยกเลิก และหากคนใดคนหนึ่งยกเลิกสิทธิของตนอีกฝ่ายก็จะยังคงมีสิทธินี้อยู่  ดังนั้นเมื่อใดที่มีการแยกย้ายกันการซื้อขายนั้นก็จะมีผลบังคับทันที และถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามที่จะรีบแยกตัวออกเพราะกลัวว่าอีกฝ่ายจะยกเลิกข้อตกลงซื้อขาย    

2. สิทธิในการตัดสินใจจะซื้อขายโดยการวางเงื่อนไข: คือการที่คู่ตกลงทั้งสองคนหรือคนใดคนหนึ่งได้วางเงื่อนไขว่าให้ตนมีสิทธิที่จะยกเลิกการซื้อขายภายในระยะเวลาที่กำหนดแน่นอน ซึ่งถือว่า(การซื้อขายและเงื่อนไขนี้)ใช้ได้แม้จะมีระยะเวลานานก็ตาม โดยระยะเวลาของมันก็จะเริ่มตั้งแต่วินาทีที่ทำข้อตกลงจนถึงสิ้นสุดเวลาที่ได้วางเงื่อนไขไว้  ดังนั้นเมื่อใดที่เวลามีสิทธินั้นได้ล่วงเลยไปแล้วโดยไม่มีการยกเลิกการซื้อขาย ก็ถือว่าการซื้อขายนั้นมีผลบังคับ(ไม่สามารถยกเลิกได้) และหากทั้งสองฝ่ายมีการยกเลิกสิทธิในระหว่างช่วงเวลาที่กำหนด สิทธินั้นก็จะหมดไปเพราะมันเป็นสิทธิของทั้งสองฝ่าย(เมื่อทั้งสองพอใจที่จะยกเลิกก็ถือว่าได้)

3. สิทธิในการตัดสินใจยกเลิกการซื้อขายเพราะความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย: เช่นขัดแย้งกันในเรื่องของจำนวนราคา หรือตัวสินค้า หรือลักษณะของมัน โดยที่ไม่มีหลักฐานมาชี้ชัด ในกรณีนี้ให้ยึดถือคำพูดของผู้ขายพร้อมคำสาบาน และให้สิทธิแก่ผู้ซื้อในการที่จะรับข้อตกลงนั้นหรือจะยกเลิกการซื้อขาย

4. สิทธิในการตัดสินใจยกเลิกการซื้อขายเพราะมีตำหนิ:  คือตำหนิที่ทำให้ราคาสินค้านั้นลดลง ดังนั้นเมื่อใดที่ซื้อสินค้าแล้วพบตำหนิ ผู้ซื้อก็จะมีสิทธิเลือกระหว่างการคืนสินค้าแล้วรับราคาคืน หรือรับสินค้านั้นไปโดยขอค่าราคาตำหนิจากผู้ขายโดยการตีราคาสินค้าที่สมบูรณ์และที่มีตำหนิแล้วเอามาหักลบกัน และถ้าหากมีความขัดแย้งกันว่าตำหนิเกิดขึ้นเมื่อใด เช่น พิการ (สัตว์) การเน่าเสียของอาหาร ให้ยึดถือคำพูดของผู้ขายพร้อมคำสาบาน หรือให้มีการคืนให้กันและกัน

5. สิทธิในการตัดสินใจยกเลิกการซื้อขายเพราะมีการฉ้อโกง: คือการที่ผู้ขายหรือผู้ซื้อถูกโกงในสินค้าในลักษณะที่เกินกว่าธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมรับกัน ถือว่าหะรอม ดังนั้นเมื่อใดที่ถูกโกงเขาก็มีสิทธิเลือกระหว่างการยอบรับตามนั้นหรือยกเลิกการซื้อขายนั้นไป เช่น คนที่ถูกโกงโดยวิธี ตะลักกี อัรรุกบาน”(ออกไปดักพบกองคารวานสินค้าและหลอกว่าสินค้าที่พวกเขานำมานั้นในเมืองมีราคาถูก) หรือโดยวิธีเพิ่มราคาของหน้าม้าที่ไม่ได้มีเจตนาจะซื้อ  หรือเพราะเขาไม่รู้ราคาที่แท้จริง ไม่ชำนาญการต่อรอง ให้ถือว่าทั้งหมดนั้นมีสิทธิที่จะยกเลิกการซื้อขายได้

6. สิทธิในการตัดสินใจยกเลิกการซื้อขายเนื่องจากการปลอมแปลง: คือการที่ผู้ขายแสดงสินค้าในลักษณะที่ดึงดูดใจ ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่แสดงไว้ เช่น กักนมสัตว์ในเต้าโดยไม่รีดเมื่อต้องการขายสัตว์นั้นเพื่อให้มองเห็นว่ามันให้นมเยอะเป็นต้น ซึ่งการกระทำนี้ถือว่าหะรอม และหากมีการซื้อขายเกิดขึ้นผู้ซื้อก็มีสิทธิที่จะยอมรับหรือยกเลิกการซื้อขายนั้น และถ้าหากผู้ซื้อได้เอาไปแล้วรีดนมออกแล้ว เวลาคืนก็ให้คืนสัตว์นั้นพร้อมกับผลอินทผาลัม หนึ่งศออฺ (ประมาณสี่ลิตร) แทนน้ำนมที่เขารีดไป

7. สิทธิในการตัดสินใจจะซื้อจะขายเพราะการบอกราคาเมื่อใดที่มันไม่ตรงตามที่บอก หรือพบว่ามันมีราคาต่ำกว่าที่บอกไว้ ผู้ซื้อก็จะมีสิทธิที่จะยอมรับการซื้อขายนั้นหรือรับเอาค่าส่วนต่างไป หรือยกเลิกการซื้อขายไปเลย เช่น เมื่อบุคคลหนึ่งซื้อปากกาด้วยราคาหนึ่งร้อยบาท แล้วมีอีกคนมาบอกว่า ขายให้ฉันในราคาที่ท่านซื้อมาสิเขาก็กล่าวว่า ต้นทุนของมันหนึ่งร้อยห้าสิบบาทแล้วเขาก็ขายมันให้แก่คนๆนั้นไป เมื่อบุคคลนั้นพบว่าผู้ขายได้โกหกแก่เขา เขาก็มีสิทธิที่จะยอมรับหรือยกเลิกการซื้อขายนั้น ซึ่งสิทธิประเภทนี้จะมีอยู่ในการซื้อขายแบบ เตาลิยะฮฺ (ซื้อในราคาเดิมที่เขาซื้อมา) แบบ ชะริกะฮฺ (ขายหุ้นส่วนในสินค้า) แบบ มุรอบะหะฮฺ (ขายโดยบอกราคาที่ซื้อมาและกำไรที่บวกเพิ่ม) แบบ มุวาเฏาะอะฮฺ (ขายต่ำกว่าทุนโดยบอกราคาทุน) ซึ่งการซื้อขายเหล่านี้ทั้งหมดทั้งผู้ขายและผู้ซื้อต้องรู้ราคาต้นทุนที่ซื้อมา

8. เมื่อปรากฏว่าผู้ซื้อไม่มีเงินจ่ายหรือไม่ยอมจ่าย ผู้ขายมีสิทธิที่จะยกเลิกการซื้อขายหากเขาต้องการเพื่อเป็นการรักษาทรัพย์ของตน

ผลร้ายและอันตรายของการฉ้อโกง   

การฉ้อโกงถือว่าหะรอมในทุกเรื่อง และกับทุกคน ในทุกนิติกรรมสัญญา มันเป็นที่ต้องห้ามในการงานทั้งหมด งานที่ใช้ความชำนาญ งานผลิต เป็นที่ต้องห้ามในการทำข้อตกลงต่างๆ การซื้อขาย และอื่นๆ  เพราะมันเป็นการโกหกและหลอกลวง และมันนำไปสู่การละเลาะวิวาท และเป็นศัตรูกัน

มีรายงานจากท่าน อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า แท้จริงท่านรอซุลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ حَـمَلَ عَلَيْنَا السِّلاحَ فَلَيْسَ مِنَّا، وَمَنْ غَشَّنَا فَلَيْسَ مِنَّا». أخرجه مسلم.

ความว่า “ผู้ใดที่ถืออาวุธเหนือพวกเราแท้จริงเขาไม่ใช่พวกเรา และผู้ใดที่หลอกลวงพวกเราเขาก็ไม่ใช่พวกเรา(บันทึกโดยมุสลิม 102)

การล้มเลิกข้อตกลง

คือการยกเลิกข้อตกลง และการคืนคำของคู่ตกลงในสิ่งที่ตนมีสิทธิ ซึ่งอาจจะล้มเลิกโดยการให้เพิ่มหรือลดลงจากเดิมก็ได้

- การล้มเลิกข้อตกลงเป็นสิ่งที่สุนัตสำหรับคนที่เสียใจไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย เป็นสุนัตในส่วนของผู้ให้ยกเลิก และเป็นมุบาห์ (อนุญาต) สำหรับคนที่ขอให้ยกเลิก และถูกบัญญัติเมื่อคู่ตกลงเกิดการเสียใจ(ที่ทำข้อตกลง) หรือหมดความต้องการในสินค้า หรือไม่มีความสามารถในการจ่ายราคา และอื่นๆ

- การล้มเลิกข้อตกลงเป็นการทำดีของมุสลิมต่อพี่น้องของเขาเมื่อพี่น้องของเขาต้องการ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้สนับสนุนให้กระทำ โดยท่านได้กล่าวว่า

«مَـنْ أَقَالَ مُسْلِـماً أَقَالَـهُ الله عَثْرَتَـهُ يَـومَ القِيَامَةِ». أخرجه أبو داود وابن ماجه

ความว่า  ผู้ใดที่ยอมล้มเลิกข้อตกลงแก่มุสลิมคนหนึ่ง อัลลอฮฺจะล้มเลิกความผิดของเขาในวันกิยามะฮฺ (หะดีษ เศาะฮีหฺศอฮิฮฺ  บันทึกโดย อบู ดาวูด  3460 และอิบนุ มาญะฮฺ  2199 และตัวบทนี้เป็นของอิบนุ มาญะฮฺ) 

อ้างอิง :: https://islamhouse.com/th/articles/204615


ย้อนกลับ