บทความน่ารู้


อัล-หะวาละฮฺ (การโอนหนี้)

อัล-หะวาละฮฺ  การย้ายหนี้จากความรับผิดชอบของผู้โอนไปสู่ความรับผิดชอบของผู้ถูกโอนให้

หุก่มของการโอนหนี้

ถือว่าเป็นที่อนุญาต

เคล็ดลับ(หิกมะฮฺ)ในการบัญญัติการโอนหนี้

อัลลอฮฺได้บัญญัติการโอนหนี้เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สิน และทำให้มนุษย์ได้สมความปรารถนา ในบางครั้งเขาต้องการที่จะให้พ้นความรับผิดชอบในสิทธิหนึ่งไปยังลูกหนี้ของเขา หรือต้องการชดใช้สิทธิของเขาแก่เจ้าหนี้ของเขา บางครั้งเขาต้องการย้ายทรัพย์สินจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง  แต่การย้ายทรัพย์ดังกล่าวมีความยากลำบากอาจจะเพราะลำบากในการแบกขน หรือเพราะระยะทางที่ไกล หรือหนทางไม่ปลอดภัย อัลลอฮฺจึงบัญญัติให้มีการโอนหนี้กันได้เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่างๆ ที่กล่าวมา

หุก่มการรับโอนหนี้

เมื่อลูกหนี้ได้โอนหนี้ของตนที่อยู่กับเจ้าหนี้ไปยังบุคคลที่มีทรัพย์(สามารถที่จะชดใช้หนี้ได้)เขา(เจ้าหนี้)จะต้องรับการโอนหนี้นั้น  และถ้าหากเขาโอนหนี้ไปยังบุคคลที่ล้มละลายโดยที่เขา(เจ้าหนี้)ไม่รู้ ให้เขา(เจ้าหนี้)กลับมาทวงสิทธิของเขาจากผู้โอนตามเดิม แต่ถ้าเขาพอใจกับการโอนดังกล่าวเขาไม่มีสิทธิที่จะกลับมาทวงจากผู้โอนอีก  การผัดผ่อนการชำระหนี้ของคนรวยถือว่า
หะรอมเพราะเป็นอธรรมต่อเจ้าหนี้ 

รายงานจากท่าน อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า แท้จริงท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«مَطْلُ الغَنِيِّ ظُلْـمٌ، فَإذَا أُتْبِـعَ أَحَدُكُمْ عَلٰى مَلِيٍّ فَلْيَتَّبِـعْ». متفق عليه.

ความว่า “การผัดผ่อนการจ่ายหนี้ของลูกหนี้ที่ร่ำรวยถือว่าเป็นการอยุติธรรม และผู้ใดในหมู่พวกท่านถูกโอนหนี้ให้ไปเรียกเก็บจากลูกหนี้ที่ร่ำรวย เขาจงยอมติดตามเรียกเก็บเถิด”  (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2287 สำนวนนี้เป็นของท่าน และ มุสลิม หมายเลข 1564)

ผลของการโอนหนี้

เมื่อข้อตกลงโอนหนี้เสร็จสมบูรณ์ สิทธิจะถูกย้ายจากผู้โอนไปสู่ผู้ถูกโอน และผู้โอนก็จะหมดภาระความรับผิดชอบ

ความประเสริฐของการยกหนี้แก่ผู้ที่ขัดสน

เมื่อการทำข้อตกลงโอนหนี้สมบูรณ์ แล้วลูกหนี้ผู้ถูกโอนหนี้เกิดล้มละลาย สุนัตให้มีการผ่อนเวลาชำระให้ หรือถ้ายกหนี้ให้เสียเลยก็จะยิ่งดี

รายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«كَانَ تَاجِرٌ يُدَايِنُ النَّاسَ، فَإذَا رَأَى مُعْسِراً قَالَ لِفِتْيَانِـهِ تَـجَاوَزُوا عَنْـهُ لَعَلَّ الله أَنْ يَتَـجَاوَزَ عَنَّا، فَتَـجَاوَزَ الله عَنْـهُ». متفق عليه.

ความว่า “เคยมีพ่อค้าคนหนึ่งที่คอยให้ผู้คนกู้ยืมจากตน และเมื่อใดที่เขาเห็นลูกหนี้ขัดสน เขาก็จะกล่าวแก่ลูกน้องของเขาว่า จงปล่อยเขา(ลูกหนี้ที่ขัดสนนั้น)ไปเถิด เผื่อว่าอัลลอฮฺจะทรงปล่อยเราโดยไม่เอาโทษ(ยกโทษแก่เราในบาปกรรมต่างๆ)ด้วย  แล้วอัลลอฮฺก็ได้ยกโทษให้แก่เขาจริง(บันทึกโดย อัล-
บุคอรีย์
หมายเลข 2078 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และ มุสลิม หมายเลข 1562)

อ้างอิง :: https://islamhouse.com/th/articles/204719


ย้อนกลับ