บทความน่ารู้


อิห์ยาอ์ อัล-มะวาต (การเข้าครอบครองฟื้นฟู้ที่ดินที่ไม่มีเจ้าของ)

อัล-มะวาต  คือที่ดินที่ไม่มีผู้ใดครอบครอง  เป็นที่ดินที่ปลอดจากการถือครองหรือมีกรรมสิทธิ์โดยชอบธรรม

วิทยปัญญาในการบัญญัติการฟื้นฟูที่ดิน

การให้มีการฟื้นฟูที่ดินถือเป็นการเปิดวิธีทางการหาปัจจัยยังชีพ และใช้ประโยชน์ของบรรดามุสลิม ให้ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่จะงอกเงยออกมาทั้งที่เป็นอาหารหรืออื่นๆ และทำให้เกิดซะกาตที่จะต้องมอบให้แก่ผู้ที่คู่ควรต่อไป

ความประเสริฐของการฟื้นฟูที่ดินสำหรับผู้ที่มีเจตนาดี

รายงานจากท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ  ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَا مِنْ مُسْلِـمٍ يَـغْرِسُ غَرْساً، أَوْ يَزْرَعُ زَرْعاً فَيَأْكُلُ مِنْـهُ طَيْرٌ أَوْ إنْسَانٌ أَوْ بَـهِيمَةٌ إلَّا كَانَ لَـهُ بِـهِ صَدَقَةٌ».  متفق عليه.

ความว่า  “ไม่มีมุสลิมคนใดที่ได้เพาะปลูกพืชล้มลุกหรือปลูกพืชยืนต้น แล้วมีนกหรือคนหรือสัตว์มากิน นอกจากเขาจะได้รับผลบุญเป็นการบริจาคทานเศาะดะเกาะฮฺจากสิ่งนั้น" (บันทึกโดยอัล-บุคคอรีย์ หมายเลข 2320 คำรายงานนี้เป็นของท่าน และบันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1553)

 

หุก่มการฟื้นฟูที่ดิน

ผู้ใดที่ฟื้นฟูที่ดินที่ไม่มีผู้ใดครอบครองถือว่าเขามีสิทธิในที่ดินนั้นไม่ว่าเขาจะเป็นมุสลิมหรือซิมมีย์(ผู้ไม่ใช่มุสลิมที่อาศัยในรัฐอิสลาม) ไม่ว่าเขาจะได้รับหรือไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้นำก็ตาม และไม่ว่าจะเป็นในแผ่นดินอิสลามหรือไม่ก็ตาม ตราบใดที่มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาธารณะประโยชน์ของบรรดามุสลิม เช่น สุสาน แหล่งหาไม้ฟืน ที่ดินว่างในพื้นที่ต้องห้าม(มักกะฮฺและมะดีนะฮฺ) และทุ่งอะรอฟะฮฺ เป็นต้น ที่เหล่านี้จะไม่สามารถที่จะมีกรรมสิทธิครอบครองโดยวิธีการเข้าไปพื้นฟูได้

รายงานจากท่านหญิงอาอีชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ أَعْمَـرَ أَرْضاً لَيْسَتْ لأَحَدٍ فَهُوَ أَحَقُّ». أخرجه البخاري.

ความว่า “ผู้ใดที่สร้างความเจริญ(พัฒนา)ฟื้นฟูที่ดินที่ไม่มีผู้ใดครอบครอง  แน่นอนเขาย่อมมีสิทธิในที่ดินนั้นมากกว่าผู้อื่นๆ” (บันทึกโดยอัล-บุคคอรีย์ หมายเลข 2335)

 

ลักษณะการฟื้นฟูที่ดิน

การเข้าฟื้นฟูที่ดินที่ไม่มีใครครอบครองเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

อาจจะด้วยการสร้างรั้วที่แข็งแรงตามธรรมเนียมที่มีการปฏิบัติกัน หรือการทำให้น้ำไหลผ่านเข้าไป(ขุดคู)   หรืออาจจะด้วยการขุดบ่อน้ำในที่ดินนั้น หรือทำการปลูกต้นไม้ โดยทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติในสังคมนั้นๆ ดังนั้นทุกวิธีที่ผู้คนนับว่ามันเป็นการเข้าครองครองพื้นฟู ถือว่าทำให้ผู้ฟื้นฟูมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ไม่มีผู้ครอบครองผืนนั้น

ผู้ใดที่ได้ทำการฟื้นฟูที่ดินโดยถูกต้องตามหลักศาสนาแล้วเขาก็จะมีกรรมสิทธิ์ในผืนดินนั้นและทุกๆ สิ่งที่มีอยู่ภายในผืนดินนั้นไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กก็ตาม และเมื่อใดที่เขาไม่สามารถจะฟื้นฟูมันได้ผู้นำก็สามารถที่จะเอามันจากเขาแล้วมอบให้ผู้อื่นที่สามารถฟื้นฟูผืนดินนั้นได้ต่อไป

 

การครอบครองที่ดินใกล้เมือง

ผืนดินที่ตั้งอยู่ในเมืองหรือใกล้เคียงไม่อาจเข้าครอบครองได้ยกเว้นจะได้รับการอนุญาตจากผู้นำ เพราะบางครั้งบรรดาพี่น้องมุสลิมอาจมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อทำสุสาน สร้างมัสยิด หรือโรงเรียนเป็นต้น ซึ่งการเข้าไปครอบครองจะทำให้สาธารณะประโยชน์เหล่านี้ไม่อาจทำได้

ผืนดินว่างที่ไม่มีผู้ครอบครองซึ่งน้ำหลากของมันไหลลงสู่ผืนดินที่มีการครอบครองให้ถือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของผืนดินนั้นโดยเฉพาะ จึงไม่สามารถเข้าทำการฟื้นฟูหรือส่งมอบมันให้กับผู้อื่นนอกเหนือจากเจ้าของที่ดินผืนนั้นได้อนุญาต เพื่อป้องกันความเสียหายของพวกเขา

 

การจัดสรรที่ดินโดยผู้นำ

            อนุญาตให้ผู้นำทำการแบ่งสรรที่ดินให้แก่ผู้ที่จะเข้าไปฟื้นฟู  และแบ่งสรรที่ตั้งวางของเพื่อค้าขายบนถนนที่กว้างตราบใดที่มันไม่ได้นำความลำบากแก่ผู้คน และหากไม่มีการแบ่งสรรก็ถือว่าผู้ที่เข้าไปตั้งวางก่อนมีสิทธิในที่นั้นมากกว่า หากเข้าไปพร้อมกันก็ให้หยิบฉลาก และหากผู้คนเกิดขัดแย้งในขนาดของถนนให้ถือว่าถนนกว้างเจ็ดศอก และผู้นำมีสิทธิจะดำเนินการใดๆ เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนรวม

 

การจับจองที่ดิน                  

            การจับจองไม่ได้ทำให้มีกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการจองไว้และมีสิทธิมากกว่าผู้อื่นเท่านั้น เช่น ด้วยการทำรั้วที่ไม่แข็งแรง วางตาข่าย ขุดคูรอบ ทำกำแพงดิน หรือขุดบ่อแต่ไม่ถึงตาน้ำ เป็นต้น ผู้นำก็จะกำหนดระยะเวลาให้เขาเข้าทำการฟื้นฟู หากเขาเข้าไปฟื้นฟูตามหลักศาสนาเขาก็ได้ไป แต่ถ้าเขาไม่ทำผู้นำก็จะทำกายึดมันคืนแล้วมอบให้ผู้อื่นที่มีความต้องการฟื้นฟูต่อไป

          

            - อนุญาตให้ผู้ที่อยู่ตอนบนของแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำธาร ทำการใช้รดน้ำและกักน้ำสูงเท่าตาตุ่มแล้วปล่อยมันให้ผู้ที่อยู่ตอนล่างต่อๆ ไป

 

การกำหนดเขตหวงห้าม

อนุญาตให้แก่ผู้นำเป็นการเฉพาะในการหวงห้ามแหล่งหญ้าที่ใช้เลี้ยงสัตว์และม้าที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกองคลังแผ่นดิน เช่น ม้าที่จะใช้ในสงคราม อูฐบริจาค เป็นต้น ตราบใดที่มันไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อบรรดามุสลิม

 

            - ใครที่ไปถึงยังสิ่งที่เป็นที่อนุญาตไม่มีเจ้าของก่อนผู้อื่นแล้วเขาทำการถือครองของสิ่งนั้นถือว่าสิ่งนั้นตกเป็นของเขาผู้นั้น เช่น สัตว์ในป่า อำพัน ไม้ฟืน เป็นต้น

- บรรดามุสลิมมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในสามสิ่งคือ น้ำ หญ้าเลี้ยงสัตว์ และไฟ จะไม่อนุญาตให้ทำการหวงห้ามยกเว้นเพื่อผลประโยชน์ของบรรดามุสลิมทั่วไป

 

หุก่มของการละเมิดสิทธิของผู้อื่น

            ถือเป็นสิ่งหะรอมที่มุสลิมจะทำการละเมิดสิทธิของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้างหรืออื่นๆ

1. รายจากท่านหญิงอาอีชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ว่าแท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ ظَلَـمَ قِيْدَ شِبْرٍ مِنَ الأَرْضِ طُوِّقَهُ مِنْ سَبْعِ أَرَضِينَ».  متفق عليه.

ความว่า “ใครที่อธรรม(คดโกง)ผืนดินแม้เพียงคืบเดียวก็ตาม เขาจะถูกให้ม้วนอยู่ในผืนดินเจ็ดชั้นในวันกิยามะฮฺ” (บันทึกโดยอัล-บุคคอรีย์ หมายเลข 2453 คำรายงานนี้เป็นของท่าน และบันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1612)

 

2. รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَـنْ أَخَـذَ مِنَ الأَرْضِ شَيْئـاً بِغَيْـرِ حَقِّـهِ خُسِـفَ بِـهِ يَومَ القِيَامَـةِ إلَى سَبْعِ أَرَضِـينَ». أخرجه البخاري.

ความว่า “ใครที่ได้เอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากผืนแผ่นดินโดยไม่ถูกต้อง เขาจะถูกให้จมลงในผืนดินถึง เจ็ดชั้นในวันกิยามะฮฺ” (บันทึกโดยอัล-บุคคอรีย์ หมายเลข 2454)

อ้างอิง :: https://islamhouse.com/th/articles/218404

 


ย้อนกลับ